โครงสร้างองค์กร

โครงสร้างองค์กรที่ดีนั้นนอกจะช่วยให้คุณจัดการในเรื่องสายบังคับบัญชาได้ง่ายแล้ว ยังมีประโยชน์ในเรื่องของการประสานงานระหว่างทีมอื่น ๆ ที่ทำงานแตกต่างกันอีกด้วย แน่นอนทุกองค์กรไม่ว่าจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ มีรูปแบบการทำงานอย่างไร ย่อมมีการกำหนดโครงสร้างองค์กรไว้แล้วอย่างแน่นอน แต่โครงสร้างที่เราใช้นั้นมันเหมาะกับรูปแบบการทำงานหรือไม่ ซึ่งโครงสร้างแต่ละรูปแบบก็จะส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมการทำงานที่ไม่เหมือนกันด้วย แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าโครงสร้างองค์กรมีแบบไหนบ้าง แต่ละแบบมีข้อดีข้อเสียอย่างไร ค้นหาคำตอบกันเลยในบทความนี้

นิยามของคำว่าโครงสร้างองค์กร

ก่อนที่เราจะไปดูถึงรูปแบบของโครงสร้างองค์กรต่าง ๆ เรามาดูกันก่อนว่าโครงสร้างองค์กรนั้นมีความหมายว่าอย่างไร โครงสร้างองค์กรกล่าวโดยง่ายก็คือรูปแบบของกฎเกณฑ์ ข้อบังคับ หน้าที่ความรับผิดชอบต่าง ๆ และอำนาจรับผิดชอบที่เชื่อมต่อคนในองค์กรไว้ด้วยกัน ทำให้พนักงานในองค์กรรู้ว่าแต่ละคนนั้นต้องขึ้นตรงกับใครนั่นเอง

8 รูปแบบโครงสร้างองค์กร

1. โครงสร้างองค์กรแบบลำดับชั้น

เป็นรูปแบบโครงสร้างองค์กรที่พบเห็นได้โดยทั่วไป สายบังคับบัญชาจะเริ่มต้นจาก CEO และไล่ลงไปเป็นลำดับชั้นจากบนลงไปด้านล่าง โดยมากแล้วเป็นรูปแบบโครงสร้างองค์กรที่เหมาะกับทุกรูปแบบบริษัท และในทุกอุตสาหกรรม โครงสร้างแบบนี้มีข้อดีคือ สายบังคับบัญชาชัดเจน การเลื่อนตำแหน่งต่าง ๆ มองเห็น career path ตัวเองได้ง่าย คนในทีมจะมีความสนิทกัน

ข้อด้อยของรูปแบบนี้ที่เห็นได้ชัดคือ ต่างคนจะสนใจเฉพาะสายบังคับบัญชาตัวเองเท่านั้น และการทำงานเนื่องจากมีลำดับชั้นทำให้เกิดปัญหางานดีเลย์ตามมาได้ นอกจากนั้นแล้วพนักงานในระดับล่าง ๆ อาจจะรู้สึกตัวเองไม่ค่อยมีความสำคัญ

2. โครงสร้างองค์กรแบบตามฟังก์ชั่นงาน

เป็นอีกรูปแบบที่มีความคล้ายคลึงกับแบบการจัดลำดับชั้น แต่มีการเพิ่มให้จำเพาะเจาะจงมากขึ้น โดยแต่ละแผนกจะมีผู้บังคับบัญชาหลักอยู่ และผู้บังคับบัญชาก็ขึ้นตรงกับ CEO อีกทีหนึ่ง รูปแบบนี้ทำให้พนักงานสามารถโฟกัสที่งานจำเพาะเจาะจงได้ เมื่อบริษัทขยายใหญ่ขึ้นก็สเกลได้ง่าย นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมผลงานของคนในแต่ละแผนกอีกด้วย

ข้อด้อยของแบบนี้จะคล้ายแบบแรกคือการสื่อสารระหว่างทีมเป็นไปได้ยาก คนที่อยู่ในทีมอื่น ๆ จะไม่อาจรู้ได้ถึงการจัดการของแต่ละทีมว่าเป็นอย่างไร

3. โครงสร้างองค์กรแบบตามหน่วยงาน

รูปแบบโครงสร้างองค์กรแบบรวมเข้าศูนย์กลาง ที่พบมากในองค์กรขนาดใหญ่ เช่นในบริษัทอาหารขนาดใหญ่ ที่มีผลิตภัณฑ์มากมายก็จะดำเนินงานโดยขึ้นกับไลน์ของผลิตภัณฑ์แทน และในแต่ละไลน์ product ก็จะมีผู้รับผิดชอบดูแลอยู่ เป็นรูปแบบที่ให้อิสระแต่ละหน่วยงานในการตัดสินใจ พบเห็นมากในโรงงาน องค์กรข้ามชาติใหญ่ ๆ ข้อดีก็คือแต่ละส่วนงานมีอิสระในการจัดการ ตอบสนองความต้องการลูกค้าได้รวดเร็ว

ข้อด้อยที่เห็นได้ชัดก็คือในเรื่องการจัดการทรัพยากรที่อาจมีการทับซ้อนกันได้ การสื่อสารระหว่างทีมที่เรียกได้ว่าไม่ดีเท่าไรนัก นอกจากนี้ยังเป็นรูปแบบที่ส่งเสริมการแข่งขันระหว่างหน่วยงานมากกว่าการให้ความร่วมมือซึ่งกันและกัน

4. โครงสร้างองค์กรแบบ Flat

เป็นโครงสร้างองค์กรที่เป็นรูปแบบที่ตรงข้ามกับรูปแบบบน ๆ ที่กล่าวมา คือมีการส่งเสริมให้พนักงานทุกคนมีความเท่าเทียมกัน อย่างมากก็คือผู้บริหารจะมี authority มากกว่าพนักงานทั่วไปไม่มาก พบเห็นบ่อยในบริษัทสตาร์ทอัพด้วยจำนวนพนักงานที่ยังไม่เยอะมาก โครงสร้างแบบนี้ทำให้พนักงานรู้จักรับผิดชอบและมีอิสระ การสื่อสารระหว่างพนักงานก็ทำได้ง่าย เมื่อมีไอเดียใหม่ ๆ ก็สามารถนำมาทำได้อย่างรวดเร็ว

ข้อด้อยของโครงสร้างแบบนี้ที่เห็นได้ชัดคือ พนักงานไม่รู้ว่าจะรายงานกับใคร เมื่อต้องการคำปรึกษาก็ไม่สามารถทำได้ง่ายดายแบบโครงสร้างอื่น ๆ นอกจากนี้แล้วเมื่อพนักงานเพิ่มมากขึ้นก็จะจัดการยากขึ้นเรื่อย ๆ

5. โครงสร้างองค์กรแบบ Matrix

เป็นโครงสร้างองค์กรที่เหมาะกับงานโปรเจกต์ แบบที่มีสายบังคับบัญชาเพิ่มเติมได้ โดยโครงสร้างแบบนี้จะอนุญาตให้พนักงานจากหลายแผนกสามารถเข้าร่วมทีมเพื่อทำงานหนึ่ง ๆ ได้ โดยมากโครงสร้างแบบนี้จะเป็นโครงสร้างที่พบในองค์กรที่เป็นผู้เชี่ยวชาญงานเฉพาะด้านที่ทำให้ต้องมีโปรเจกต์หลายแบบเข้ามา ข้อดีก็คือโครงสร้างนี้จะยืดหยุ่นมากกับงานโปรเจกต์ พนักงานเองก็จะได้ขัดเกลาฝีมือตลอดเวลาจากงานที่ท้าทายนอกเหนือจากงานหลัก

ข้อด้อยก็คือเนื่องจากโครงสร้างแบบนี้ทำให้มีสายบังคับบัญชาเป็น 2 ฝั่งทั้งทางตรงและโปรเจกต์ บ่อยครั้งก็เกิดข้อขัดแย้งระหว่างกันได้

6. โครงสร้างองค์กรแบบทีมงาน

โครงสร้างแบบ decentralized อีกรูปหนึ่งที่มีความคล้ายคลึงกับแบบ matrix โดยที่หลาย ๆ ทีมนั้นร่วมกันช่วยให้งานประสบความสำเร็จ โดยที่หัวหน้างานสามารถขอยืมคนจากทีมอื่น ๆ มาช่วยงานได้ ข้อดีของการจัดการแบบนี้คือพนักงานจะได้รับประสบการณ์ในการทำงานที่ดี ผลลัพธ์ของความสำเร็จงานสูง

ในขณะเดียวกันข้อด้อยก็คือโครงสร้างแบบนี้หลาย ๆ ครั้งก็สร้างความสับสนให้กับพนักงาน และตัวพนักงานก็อาจมีความรู้สึกว่ายากที่จะได้รับการเลื่อนตำแหน่งได้ด้วยเช่นเดียวกัน

7. โครงสร้างแบบ Network

เป็นการจัดโครงสร้างองค์กรที่มุ่งเน้นกระบวนการมากกว่าการทำงานตามหน้าที่หรือฝ่ายของตนเอง เป็นอีกรูปแบบที่เหมาะกับบริษัทขนาดใหญ่ หรือบริษัทที่มีหลายสาขา หรือมีรูปแบบพนักงานที่แตกต่างกัน ข้อดีทีเห็นได้ชัดเลยก็คือโครงสร้างองค์กรแบบนี้จะยืดหยุ่นเอามาก ๆ การสื่อสารก็ทำได้ง่าย และใช้จัดการกับองค์กรที่มีความซับซ้อนสูงมาก ๆ ได้

ข้อด้อยที่เจอเลยหลัก ๆ ก็จะเป็นเรื่องของความซับซ้อน และหลายต่อหลายครั้งเองนั้น ตัวพนักงานเองก็ไม่แน่ใจว่าใครควรเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจในงานหนึ่ง ๆ

8. โครงสร้างองค์กรแบบ Projectized

โครงสร้างองค์กรที่โฟกัสไปยังงานโปรเจกต์เป็นหลัก โดยที่ project manager มีอำนาจในการจัดการคน ทรัพยากรและความสำคัญของงานต่าง ได้อย่างเต็มที่รวมถึงให้การดูแลคนในโปรเจกต์ โครงสร้างองค์กรแบบนี้จะแตกต่างจากแบบอื่นเพราะเน้นไปที่ความสำเร็จของโปรเจกต์ จึงจะพบเห็นได้มากในกลุ่มธุรกิจจำพวก software development หรือธุรกิจที่ปรึกษาต่าง ๆ ข้อดีก็คือโครงสร้างแบบนี้จะเน้นไปที่ผลลัพธ์ และเนื่องด้วยงานโปรเจกต์มีเวลาที่แน่นอนทำให้พนักงานจะเกิดความร่วมมือมากขึ้นด้วย

ข้อด้อยของโครงสร้างแบบนี้คือความเครียดของพนักงานที่เกิดจากเดดไลน์ที่มาอย่างต่อเนื่อง เรื่องของ authority ที่ขึ้นอยู่กับทาง project manager ค่อนข้างมาก

อย่างที่ได้เห็นแล้วว่าไม่มีโครงสร้างแบบไหนที่เหมาะกับทุกรูปแบบองค์กร สิ่งที่ต้องคำนึงนั้นมีทั้งจำนวนพนักงาน วัฒนธรรมองค์กร รูปแบบการทำงาน รูปแบบองค์กรและอื่น ๆ หลังจากที่เราได้พิจารณาสิ่งที่กล่าวมาอย่างถี่ถ้วนแล้ว ที่เหลือก็คงไม่ยากจนเกินไปที่จะรู้ว่าแล้วโครงสร้างองค์กรแบบไหนที่เหมาะกับองค์กรเรา

ติดตามเกร็ดความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับ HR และการพัฒนาองค์กรได้ที่
Blog:    www.empeo.com/blog 
Facebook:    www.facebook.com/myempeo
Youtube:   www.youtube.com/empeo


Tags


You may also like

>