a person sitting in front of computer feeling burnout

Burnout syndrome หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า ภาวะหมดไฟในการทำงาน อาจจะไม่ใช่โรคใหม่แต่เชื่อได้ว่าสำหรับพนักงานออฟฟิศเองนั้นคิดว่าน่าจะคงพอคุ้นเคยกับโรคนี้เป็นอย่างดี ดูเผินๆอาจจะไม่ได้เป็นปัญหาร้ายแรงอะไรแต่จริงๆแล้วส่งผลกระทบร้ายแรงสำหรับองค์กรมากเลยทีเดียว คนที่มีอาการ burnout นั้นจะรู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อย หมดแรงและไม่อยากจะลุกขึ้นเพื่อไปทำงาน ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง จะเห็นได้ว่ามีแต่ผลเสียแย่ๆทั้งนั้น วันนี้เราจะพาทุกท่านให้รู้เท่าทันกับเจ้าโรคนี้กันมากขึ้น


Burnout syndrome คืออะไร?

Burnout syndrome คือภาวะหมดไฟในการการทำงานที่มักเกิดจากความเครียดที่สะสมเรื้อรังในที่ทำงาน เช่นจากการที่งานมีเดดไลน์มาจ่อรอกันอย่างติดๆ การพยายามทำงานทุกอย่างตามแผน จนเจอความเครียดเล่นงานและไม่สามารถทำงานให้ออกมาดีได้ ส่งผลต่อสภาวะความเหนื่อยล้าทั้งทางร่างกาย อารมณ์และจิตใจ ท้ายที่สุดแล้วก็หมดแรงจูงใจในการทำงานไปโดยปริยาย

วิธีประเมินอาการ burnout เบื้องต้น

1.ทางร่างกาย มีอาการนอนไม่หลับ เหนื่อยง่าย รู้สึกอ่อนเพลีย แม้ว่าได้พักผ่อนเท่าไรก็ไม่รู้สึกว่าเพียงพอ รวมถึงรู้สึกว่าความจำแย่ลงอย่างมีนัยยะสำคัญ และอาจมีอาการอื่นๆอย่าง office syndrome ร่วมด้วย

2.ทางอารมณ์ มีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์อย่างมีนัยยะสำคัญ รู้สึกเบื่อ ขาด passion ในการทำงาน เมื่อถึงเวลาต้องทำงานก็ซึมเศร้า ไม่พอใจในงานของตนเอง ซ้ำยังรู้สึกหงุดหงิดโมโหง่าย ไม่พอใจไปในทุกๆเรื่อง

3.ด้านความคิดและพฤติกรรม กลายเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย และอาจมีความสงสัยในตัวเอง หลีกเลี่ยงการพูดคุยสุงสิงกับเพื่อนร่วมงาน ขาดความกระตือรือร้นอย่างเห็นได้ชัด และที่สำคัญคือไม่มีความสุขในการทำงานอีกต่อไป

เป็น burnout syndrome ได้อย่างไรกันนะ?

โดยมากแล้วเมื่อพูดถึงสาเหตุของการเป็นโรคนี้ เราจะมองถึง 3 ปัจจัยสำคัญที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

1.ด้านการทำงาน

เรียกได้ว่าเป็นปัจจัยหลักๆและสำคัญมากๆที่ทำให้เกิดอาการ burnout ได้ง่ายที่สุด ลองสังเกตตัวเองดูว่างานที่ต้องทำอยู่มีลักษณะเช่นนี้หรือเปล่า

  • การต้องตกอยู่ในความเครียดจากงานเป็นเวลานาน
  • เนื้องานมีความกดดันมหาศาลต้องรับผิดชอบสูง
  • หน้าที่รับผิดชอบที่ทำอยู่เราไม่ได้มีความชอบมากเพียงพอ
  • ปริมาณงานล้นในขณะที่คนทำงานน้อย
  • ขาดการยอมรับจากเพื่อนร่วมทีม หัวหน้างาน ผลตอบแทนก็ไม่เป็นที่น่าพอใจ
  • ระบการทำงานที่ขาดประสิทธิภาพและความยืดหยุ่น
  • วัฒนธรรมองค์กรไม่แมทกับความต้องการในการทำงานของเรา

2.ด้านการใช้ชีวิต

ส่วนมากแล้วปัจจัยการใช้ชีวิตเองนั้นก็มักจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยด้านการทำงานด้วยเช่นกัน

  • ขาดการพักผ่อนอย่างเพียงพอจากความเครียด หรือการทำงานอย่างต่อเนื่อง
  • มีภาระค่าใช้จ่ายทางการเงิน หรือความรับผิดชอบด้านครอบครัว
  • ความขัดแย้งภายในบ้าน ความสัมพันธ์แง่ลบที่ต้องเผชิญอยู่เรื่อยๆ

3.ด้านส่วนตัว

ในด้านนี้มักจะเกิดจากพฤติกรรมส่วนบุคคลที่ส่งผลต่ออาการ burnout

  • ชอบความควบคุมได้ ทำให้หลายครั้งเมื่อต้องทำงานมีบางอย่างผิดไปจากแผนก็เกิดความเครียด
  • รักความสมบูรณ์แบบ จนทำให้งานต้องออกมาไม่มีที่ติ คาดหวังสูงเกินไป

4 วิธีที่ช่วยป้องกันการเกิดอาการ burnout ได้

นอกจากการกินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ บริหารความเครียด และนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอแล้ว เรายังมีอีก 4 เทคนิคง่ายๆที่ตัวพนักงานเองและ HR จะช่วยป้องกันโรคนี้ได้

1.Work-life balance

การทำ work-life balance นั้นย่อมเป็นไปไม่ได้เลยหากวัฒนธรรมขององค์กรนั้นๆไม่ได้เอื้อหนุนการทำงานรูปแบบนี้ ดังนั้นแล้วฝ่ายบุคคลเองสามารถช่วยในจุดนี้ได้โดยลองดูในปัจจัยหลายๆอย่างเช่น บริษัทให้รางวัลคนที่ทำงานอยู่ดึกอยู่รึเปล่า หัวหน้างานคาดหวังให้คนในทีมตอบอีเมลแม้จะเป็นตอนดึกอยู่หรือไม่ ดังนั้นแล้วการส่งเสริมให้พนักงานใช้เวลาในตอนทำงานอย่างเต็มที่ และเวลาหลังเลิกงานควรเป็นของพนักงานย่อมเป็นตัวป้องกันการเกิดอาการ burnout ได้เป็นอย่างดี

2.หาวิธีผ่อนคลายเรื่องเวลาเข้างาน

หลายต่อหลายครั้งที่คนทำงานต้องเกิดความเครียดจากรถติดบนท้องถนน การต้องเร่งรีบเพื่อให้เข้างานให้ทัน และนั่นทำให้การเริ่มต้นวันใหม่เต็มไปด้วยความเครียด บริษัทอาจช่วยพนักงานโดยการกำหนด เวลาเข้างานแบบ flex hour ให้กับพนักงาน หรือการอนุโลมให้พนักงานสามารถมีวันในแต่ละอาทิตย์ที่สามารถเข้างานสายหรือเลิกงานก่อนได้ และแม้กระทั่งการเสนอทางเลือกอื่นๆเช่นการทำ remote work อาทิตย์ละครั้งก็จะช่วยให้พนักงานมีความสุขมากยิ่งขึ้น

3.สนับสนุนการใช้สิทธิ์การลา

เชื่อหรือไม่ว่าสำหรับพนักงานบางคนไม่เคยใช้สิทธิ์การลาของตนเองเลย ด้วยเหตุนี้ความเครียดจึงสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก อันที่จริงแล้วการทำงานให้น้อยลงโดยการลาให้มากขึ้นจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ และจะส่งผลดีต่อประสิทธิภาพการทำงานเป็นอย่างมากด้วย ฝ่ายบุคคลเองก็สามารถช่วยโดยการออกนโยบายมาเพื่อบังคับให้พนักงานต้องใช้วันลาของตนเองให้หมด

4.ใส่ใจและเปิดโอกาสด้านการงาน

โดยปกติแล้วหัวหน้างานมักจะยุ่งจนลืมใส่ใจความเป็นไปของคนในทีม สิ่งหนึ่งที่คุณสามารถทำได้คือการพยายามสังเกตคนในทีมของคุณอยู่เสมอ และดูว่างานที่ได้มอบหมายไปมีความท้าทายในระดับที่ดีเพียงพอหรือไม่ การตรวจสอบที่ดีที่สุดว่าพนักงานยังมี passion ในการทำงานหรือไม่คือการจัดการพูดคุยแบบตัวต่อตัวที่จะช่วยให้คุณรู้ถึงปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นได้อย่างทันการณ์

สรุป

การใช้ชีวิตภายใต้ความเครียดและการกดดันนั่นย่อมทำได้หากเป็นเพียงแค่ครั้งคราว แต่หากต้องอยู่ภายใต้ความเครียดเป็นเวลานานๆย่อมส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานอย่างแน่นอน และทางที่ดีที่สุดของการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะ burnout นั่นก็คือการจัดสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสมที่สุด รวมไปถึงให้พนักงานมีเวลาได้ชาร์ตแบตให้กับตัวเองบ้าง

ติดตามเกร็ดความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับ HR และการพัฒนาองค์กรได้ที่
Blog:    www.empeo.com/blog 
Facebook:    www.facebook.com/myempeo
Youtube:   www.youtube.com/empeo


Tags

burnout, burnout syndrome


You may also like

>