ผ่านโปร

ผ่านโปรคำ ๆ นี้ที่พนักงานใหม่ต่างอยากได้ยิน แต่เอาเข้าจริงแล้วในการทำงานจริงอาจจะไม่ได้เรียบง่ายขนาดนั้น และไม่ใช่แค่กับคนจบใหม่เท่านั้น คนที่มีประสบการณ์ก็ยังต้องเจอกับระยะเวลา probation ด้วยเช่นกัน สมใจเมื่อเร็ว ๆ นี้เพิ่งได้งานใหม่ในองค์กรใหญ่ที่เธอใฝ่ฝันมานาน เธอมีประสบการณ์มาพอสมควรและมีความเชื่อมั่นในความสามารถตนเองเป็นอย่างมาก แต่หลังจากเข้าไปทำงานได้ไม่นาน หัวหน้างานก็เรียกเธอเข้าคุยเกี่ยวกับประสิทธิภาพการทำงานที่ไม่ได้ตามที่ต้องการ และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของการกลัวการผ่านโปรครั้งแรกในชีวิตเธอ

ตอนนี้สมใจเริ่มไม่แน่ใจในตัวเอง บางครั้งก็แอบคิดว่าตัวเองจะทำได้จริงเหรอ เธอเริ่มกลัวการที่จะออกความเห็น กลัวที่จะถามคำถามที่เธอไม่เข้าใจกับหัวหน้าเธอ เพราะหัวหน้าจะคิดว่าเธอไม่รู้เรื่องอะไรเลย จากคนที่กล้าจะพูดกับคนอื่น ตอนนี้เธอขาดความมั่นใจเป็นอย่างมาก และนั่นส่งผลให้เกิดความผิดพลาดกับงานที่เธอทำออกมาอยู่เรื่อย ๆ ความเครียดสะสมมากขึ้น แน่นอนว่าทุกคนคงเดาผลลัพธ์ได้ ไม่ต้องรอถึง 3 เดือนทางบริษัทก็แจ้งกับสมใจว่าเธอไม่ผ่านโปร

ทำไมคนถึงไม่ผ่านโปร?

จากเคสของสมใจข้างต้น เราคงเห็นได้ชัดว่าทำไมเธอถึงไม่ผ่านโปร แต่ในความเป็นจริง ในแต่ละสถานการณ์มันอาจจะไม่ได้ชัดเจนขนาดนั้น นอกจากในเรื่องของประสิทธิภาพการทำงานแล้วยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เป็นตัวเร่งได้อีกดังนี้

  • Communication skill ที่ไม่ดี
  • ไม่เปิดกว้าง ไม่เปิดใจรับฟังความเห็น
  • ทำงานแบบไม่มีแรงกระตุ้น
  • ไม่เข้ากับวัฒนธรรมองค์กร
  • เป็นคนที่มีอารมณ์อ่อนไหวจนเกินไป

แค่ตัวอย่างที่กล่าวมา เราอ่านแล้วคิดภาพตามก็คงไม่อยากทำงานร่วมกับคนประเภทนี้เช่นเดียวกัน แต่ยังดีที่สิ่งที่เราได้กล่าวมาทั้งหมดยังสามารถที่จะปรับปรุงให้ดีขึ้นได้

กลยุทธ์ผ่านโปรแบบฉลุยที่คุณก็ทำได้ง่าย ๆ 

และหากเราไม่อยากเป็นอย่างเคสของสมใจแล้วล่ะก็ ในช่วงเวลา 3 เดือนนั้นก็จำเป็นที่จะต้องพิสูจน์ตนเองให้ได้ แม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาที่หนักหนาสำหรับคนเริ่มงานใหม่ แต่คุณก็สามารถทำให้การทำงานที่ใหม่ราบรื่นได้ด้วย 4 กลยุทธ์ที่จะช่วยให้คุณผ่านโปรได้จริง ไม่ต้องรอลุ้นว่าเราทำได้ดีหรือไม่ดี

1.ไม่ละเลยเรื่องพื้นฐานต่าง ๆ 

แม้ว่าในช่วงเวลา probation นั้นคนส่วนใหญ่มักจะพยายามไม่สร้างปัญหา และสร้างความประทับใจให้กับหัวหน้างานให้มากที่สุด แต่เอาเข้าจริงแค่นั้นอาจจะยังไม่พอ เพราะยังมีเรื่องเบสิคต่าง ๆ ที่ทุกบริษัทยังคงให้ความสนใจและพนักงานใหม่บางคนติดความเคยชินจากที่เก่าอยู่ เช่น การเข้างานสายไม่กี่นาที แต่จริง ๆ แล้วมันช่วยสะท้อนให้เห็นถึงระเบียบวินัยในระยะยาวได้เยอะมาก ๆ หรือการขอใช้วันลาเพื่อไปเที่ยว ถ้าหากเป็นแผนที่ทำไว้ก่อน เราก็ควรจะให้ทางผู้สัมภาษณ์รู้ตั้งแต่ตอนนั้นเลย เพราะไม่เช่นนั้นแล้วก็อาจจะโดนมองว่าเป็นคนไม่จริงจังกับงานก็เป็นได้ หรือแม้กระทั่งในเรื่องของกระทบกระทั่งกันระหว่างเพื่อนร่วมงาน วิธีที่คุณใช้แก้ปัญหาก็เป็นสิ่งที่ถูกจับตามอง เมื่อเริ่มทำงานใหม่ จงพกความกระตือรืนร้นไว้ให้เต็มที่ และทำให้ผู้คนรอบข้างรู้สึกถึงพลังบวกในตัวคุณ เพราะไม่เช่นนั้นแล้วหัวหน้าคุณเองก็คงจะมองออกได้ทันทีว่างานนี้นั้นไม่เหมาะกับคุณ

2.วัดผลตัวเองอยู่ตลอดเวลา

คุณไม่จำเป็นต้องรอให้คนอื่นมาประเมินว่าคุณทำงานได้มีประสิทธิภาพดีมากน้อยเพียงใด เพราะหากประเมินออกมาดีก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าประเมินออกมาแล้วไม่ดีแล้วล่ะก็เมื่อนั้นก็เรียกได้ว่าช้าไปเสียแล้ว สิ่งที่คุณทำได้คือการทำความเข้าใจให้แน่ชัดถึงหน้าที่ของคุณโดยอาจจะเริ่มดูจาก job description และความคาดหวังที่ทางบริษัทต้องการ จากนั้นคุณก็ลองประเมินว่าผลงานตัวเองที่ทำออกมาทำได้ดีมากน้อยเพียงใด หากคุณไม่แน่ใจแล้วล่ะก็อาจเป็นช่วงเวลาที่จะต้องเริ่มขอความเห็นจากเพื่อนร่วมงานและหัวหน้าของคุณ สิ่งสำคัญคือคุณต้องกล้าที่จะถามก่อนที่จะโดนประเมิน และอย่าลืมจดทุกความคิดเห็นที่คุณได้รับมา คอยดูอยู่เสมอว่าคุณได้ปรับปรุงอะไรไปแล้วบ้าง

3.ทำงานให้เหนือกว่าความคาดหวัง

การทำงานแค่ได้ตามที่สั่งอาจจะไม่เพียงพอสำหรับหัวหน้าทุกคน คุณต้องหาโอกาสแสดงฝีมืออยู่อย่างสม่ำเสมอ แน่นอนว่าในช่วงเวลาของโปรนั้น โอกาสคงมีมาไม่บ่อยนัก จงเป็นคนที่ทุกคนในทีมขาดไม่ได้ เมื่อได้รับ task งานมาแล้ว คุณจึงควรทำความเข้าใจของงานนั้นให้ถ่องแท้ว่าจะต้องทำไปทำไม และผลลัพธ์ของงานแบบไหนที่เราต้องการทำออกมา เซ็ตมาตรฐานงานให้สูง เพราะความแตกต่างของผลงานที่ทำแค่พอใช้ได้เพื่อส่งไปให้จบ ๆ และผลงานที่ยอดเยี่ยมที่ทำออกมาอย่างตั้งใจ จะเห็นได้อย่างทันที

4.อย่าลืมดูแลตัวเองด้วย

ในช่วงเวลาของการทำงานที่ยังไม่ผ่านโปรนั้น ย่อมเต็มไปด้วยความเครียดที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งจากสภาพแวดล้อมใหม่ เนื้องานใหม่ ๆ ที่ยังไม่คุ้นชิน แต่นั่นก็เป็นส่วนหนึ่งของงานที่คุณต้องพบเจอ สิ่งที่คุณทำได้จึงมีเพียงการดูแลตัวเองให้พร้อมรับมือกับความเครียดที่อาจจะเกิดขึ้น

  • พักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารให้ครบและเป็นประโยชน์ และอย่านอนดึกจนเกินไป จะช่วยให้สมองคุณแจ่มใสและสามารถทำงานได้เป็นอย่างดี
  • ดูแลเรื่อง work-life balance ด้วย  ในช่วงโปรคุณคงอยากจะโชว์ฝีมือให้มากที่สุด แต่คงไม่ดีแน่ถ้าทำงานทั้งวันทั้งคืนจนเกิดอาการ burnout อย่างรวดเร็ว ใช้เวลาอื่นในการออกกำลังกาย และทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่ชอบดูบ้าง
  • หาวิธีจัดการความเครียด การนั่งสมาธินั้นช่วยจัดการความเครียดได้จริง ๆ ลองใช้เวลาสั้น ๆ เริ่มจากวันละ 5-10 นาทีในการปล่อยวางเรื่องต่าง ๆ
  • คิดบวกอยู่เสมอ อย่าไปคิดเรื่องของการไม่ผ่านโปร หรืออะไรที่ยังมาไม่ถึง ขอบคุณบริษัทที่ให้โอกาส และคิดเสมอว่าที่เค้าจ้างเราเพราะเค้าเชื่อในตัวเรา และต้องการให้เราประสบความสำเร็จด้วยเช่นกัน

และก็อย่าลืมว่าถึงแม้ว่าจะผ่านโปรเรียบร้อยแล้ว คุณจะสามารถเปลี่ยนไปจากช่วงเวลานั้น ไม่ทำงานทุ่มเทเหมือนเดิมอย่างที่เคยเป็นได้ เพราะสุดท้ายแล้วถ้าคุณประพฤติตัวไม่ดี ทำงานได้ไม่ตามที่คาดหวัง มีปัญหากับคนอื่น ๆ บริษัทก็ยังสามารถเลิกจ้างได้อยู่ดีนั่นเอง

ติดตามเกร็ดความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับ HR และการพัฒนาองค์กรได้ที่
Blog:    www.empeo.com/blog 
Facebook:    www.facebook.com/myempeo
Youtube:   www.youtube.com/empeo


Tags

ผ่านโปร


You may also like

>