พนักงานเดินผ่านประตู พนักงานลาออก

คุณเป็น HR คนหนึ่งที่กำลังรู้สึกว่าช่วงนี้ต้องไปเลี้ยงส่งพนักงานบ่อยๆอยู่หรือเปล่า นอกจากนั้นก็ยังมีลิสท์ของตำแหน่งงานที่บริษัทต้องการอีกเต็มไปหมด นับได้ว่าเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยน่าสนุกเท่าไรนักสำหรับช่วงต้นปี และยังทำให้ HR หลายคนเกิดอาการปวดหัวไปตามๆกันเลยทีเดียว สิ่งหนึ่งที่พอจะทำให้คุณยิ้มได้นั้นก็คือปัญหาพนักงานลาออกนั้นเป็นปัญหาทั่วไปที่บริษัทจะต้องพบเจอ ถึงแม้ว่าการลาออกของพนักงานจะเป็นเรื่องเหนือการควบคุม แต่จะดีกว่าไหมหากเราเข้าใจถึงสาเหตุที่พนักงานลาออก รวมถึงรู้วิธีรับมือกับปัญหานี้

ทำไมพนักงานลาออกจากงาน?

1.หัวหน้าแย่ๆ

นำโด่งทุกการสำรวจ สำหรับเหตุผลที่พนักงานลาออกจากงาน ก็ใครจะไปทนทำงานร่วมกับหัวหน้าแย่ๆได้กันล่ะ นับได้ว่าเป็นเหตุผลที่ทุกคนต่างรู้ดีแต่กลับแก้ได้ยาก อย่างไรก็ตามบริษัทเองนั้นสามารถป้องกันปัญหาเช่นนี้ได้ อย่าปล่อยให้หัวหน้าที่แย่ๆเพียงคนเดียว ทำให้ทีมที่ดีต้องหายไปทั้งทีม ในฐานะ HR แล้วหากคุณกำลังรู้สึกว่าทีมใดทีมหนึ่งมีอัตราการลาออกสูงเกินไป นี่อาจเป็นสัญญาณเตือนที่ไม่ควรมองข้าม อย่าลืมที่จะทำ exit interview ทุกครั้งก่อนพนักงานออก และถ้าสาเหตุนั้นเกิดจากหัวหน้างานจริงๆแล้วล่ะก็ การปรับทัศนคติ รวมถึงส่งหัวหน้างานท่านนั้นไปอบรมก็เป็นการส่งสัญญาณเตือนไปยังหัวหน้างานให้เห็นว่าบริษัทเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจเช่นเดียวกัน

2.ภาวะ Burnout

การทำงานหนักเป็นเรื่องที่ดี แต่หลายต่อหลายครั้งการทำงานหนักมากไป จนไม่มีเวลาให้กับส่วนอื่นของชีวิตจะทำให้ productivity ในการทำงานนั้นลดน้อยลง นอกจากนั้นการทำงานในกรุงเทพนั้นยังตามมาด้วยเวลาที่ต้องเสียไปกับการเดินทางที่เปรียบเสมือนตัวเร่งภาวะเครียดให้มากขึ้นไปอีก ส่งผลต่ออาการเหนื่อยล้า จนสุดท้ายแล้วก็เกิดอาการ burnout ที่สำคัญก็คือพนักงานที่มีอาการ burnout นั้นมีแนวโน้มที่จะลาออกสูงกว่าเดิมมากๆเลยทีเดียว กว่าจะรู้ตัวอีกทีพนักงานที่เก่งๆในทีมก็ทยอยกันลาออกซะแล้ว ดังนั้นแล้วบริษัทเองก็สามารถช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมการทำงานแบบ work life balance ได้เช่นเดียวกัน การลาพักร้อนก็ช่วยให้พนักงานโล่งขึ้น และนั่นหมายความว่าหัวหน้าและผู้บริหารเองก็ต้องตั้งใจสร้างสภาพแวดล้อมเช่นนี้จริงๆด้วย

3.ไม่เหมาะกับ culture

เรื่องที่ดูเล็กแต่เอาเข้าจริงกลับไม่เล็กแบบที่คิด เพราะคงไม่มีคนที่ไหนที่อยากทำงานกับบริษัทที่มีวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่ดี ดังนั้นแล้วฝ่ายบุคคลขององค์กรจึงจำเป็นมากๆที่จะทำให้มั่นใจว่าวัฒนธรรมในองค์กรเรานั้นไม่ได้อยู่ในสภาวะที่เป็นพิษต่อคนทำงาน และในอีกแง่มุมหนึ่งบางครั้งปัญหาก็ไม่ได้เกิดจากองค์กรแต่มาจากฝั่งของพนักงานเองที่เข้ากับองค์กรไม่ได้ ดังนั้นแล้วขั้นตอนของการสัมภาษณ์จึงควรที่จะดูด้วยว่าพนักงานคนนี้เป็นอย่างไร จะสามารถเข้ากับวัฒนธรรมองค์กรของเราได้ไหม  

4.รู้สึกไม่ได้รับการยอมรับ

แน่นอนว่าการทำงานสิ่งที่ช่วยจูงใจพนักงานก็คือค่าตอบแทน แต่นอกจากค่าตอบแทนแล้วการยอมรับก็เป็นสิ่งที่พนักงานต้องการด้วยเช่นกัน ลองสำรวจจากตัวคุณเองก็ได้ว่าครั้งล่าสุดที่คุณได้รับคำชมจากหัวหน้าคือเมื่อไร และได้ชมเชยคนในทีมคุณเมื่อไร หากคุณเองยังไม่ได้ทำสิ่งที่กล่าวมาเหล่านี้ อาจจะถึงเวลาที่ต้องปรับเปลี่ยนบางอย่าง เพราะอีกปัจจัยที่พนักงานเลือกที่จะลาออกจากงานก็เป็นเพราะว่าพวกเขารู้สึกว่าไม่มีใครเห็นคุณค่าของงานที่พวกเขาทำ และพอการทำงานเป็นแค่การทำเพื่อเงินดังนั้นแล้วเมื่อต้องตัดสินใจแยกย้ายก็ไม่ได้เป็นอะไรที่ยากลำบากในการตัดสินใจสักเท่าไรนัก นอกจากเงินเดือนแล้วคุณอาจลงพิจารณาเรื่องต่างๆเช่น การขอบคุณจากใจจริง การเห็นอกเห็นใจพนักงาน วันลาพิเศษ ที่จอดรถหรือของขวัญเล็กๆน้อยๆในโอกาสปิดงานบางอย่าง

5.ไม่ก้าวหน้าในหน้าที่การงาน

คนจำนวนมากล้วนอยากก้าวหน้าในหน้าที่การงาน อยากจะได้รับโอกาสในการเติบโต และแม้ว่าพนักงานของคุณจะรักบริษัทมากขนาดไหน แต่หากการที่จะได้ขึ้นตำแหน่ง หรือเติบโตมากกว่านี้คือการต้องย้ายบริษัทเพียงอย่างเดียว เชื่อได้เลยว่าพนักงานคนนั้นๆย่อมเลือกที่จะจากไปอย่างแน่นอน ดังนั้นแล้วการพูดคุยกับพนักงานเพื่อให้ทราบถึงเป้าหมายในการทำงานเป็นครั้งคราวก็จะช่วยให้คุณสามารถวางแผนในการเติบโตให้กับพนักงานของคุณได้

จะเห็นได้เลยว่าเหตุผลที่พนักงานเลือกที่จะลาออก ส่วนนึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่ามีเรื่องของเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่อีกหลายๆส่วนก็เป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับเงินเลยเช่นเดียวกัน จึงเป็นหน้าที่ของฝ่ายบุคคลและบริษัทที่จะหาแนวทางในการจัดการกับปัญหาพนักงานลาออก เพราะอย่างไรก็ตามค่าใช้จ่ายในการหาพนักงานใหม่นั้นไม่ใช่น้อยๆ และยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่ว่าพนักงานจะสามารถจัดการงานได้หรือไม่อีก ดังนั้นแล้วหลังจากอ่านบทความนี้จบอย่าลืมทำให้มั่นใจว่าบริษัทของคุณจะเป็นที่ๆพนักงานทุกคนอยากจะอยู่กันไปนานๆ

ติดตามเกร็ดความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับ HR และการพัฒนาองค์กรได้ที่
Blog:    www.empeo.com/blog 
Facebook:    www.facebook.com/myempeo
Youtube:   www.youtube.com/empeo


Tags

resign, พนักงานลาออก


You may also like

>